ปลูกผักสวนครัวแบบวิถีคนเมือง


ผักสวนครัววิถีคนเมือง ปลูกง่าย อุดมด้วยวิตามิน thaihealth
          มีพื้นที่จำกัด อาศัยอยู่ในหอพัก หรือคอนโดมิเนียมสูง ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปในการปลูกผัก เพราะจริงๆ แล้วการปลูกผักทานเองในปัจจุบันนี้ไม่จำเป็นต้องขุดหลุม หาที่ดินกว้างๆ มีเนื้อที่ใช้สอยอะไรมากมาย ขอแค่พื้นที่เล็กๆ ก็ปลูกผักงามๆ ไว้บริโภค และยังมั่นใจได้ว่าปลอดภัย ไร้สารเคมีอย่างแน่นอน
          ไร้กังวลว่าการปลูกผักกินเองจะมีขั้นตอนยุ่งยาก เพราะวิธีที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในกิจกรรมปลูกผัก ตอน เพาะต้นอ่อน จะเผยเทคนิคเคล็ดลับการเพาะต้นอ่อนสำหรับคนในเมืองที่เป็นมือใหม่หัดปลูกโดยเฉพาะ ที่ใครก็สามารถทำได้ แถมปลูกไม่กี่วันก็ได้ผลผลิตไปรับประทานกันแล้ว
           พี่กอล์ฟ-ชูเกียรติ โกแมน ผู้เชี่ยวชาญจากสวนผักคนเมือง กล่าวว่า พืชผักสวนครัวส่วนใหญ่ที่เหมาะกับคนอาศัยอยู่ในเมืองที่อยากแนะนำให้ปลูกคือ พืชที่มีอายุสั้น เก็บผลผลิตเร็ว และดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก และที่สำคัญสามารถปลูกในพื้นที่จำกัดได้ เช่น ผักชี ต้นหอม คะน้า ผักบุ้งจีน กะเพรา โหระพา แมงลัก พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ ฯลฯ แต่หากเป็นมือใหม่หัดปลูก มีความใจร้อน อยากหยอดเมล็ดแล้วได้กินไวๆ แบบที่ไม่ต้องดูแลรักษามากมายนัก ก็แนะนำว่าให้เริ่มต้นจากการลองเพาะเมล็ดงอกกินกันดูก่อน โดยเจ้าเมล็ดเพาะงอกที่ว่านี้ก็มีหลากหลายให้เลือกสรร ตั้งแต่ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลันเตาหรือโต้วเหมี่ยว และเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น
           สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ขอแนะนำวิธีเพาะเมล็ดงอกทานตะวัน ซึ่งเป็นผักที่กำลังได้รับความนิยม อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร มีขั้นตอนปลูกดังนี้ ก่อนอื่นต้องเตรียมวัสดุเพาะ ได้แก่ ขุยมะพร้าวร่อน 4 ส่วน ขี้เถ้าแกลบร่อน 1 ส่วน หรือจะใช้ขุยมะพร้าวร่อนกับดินร่อน 1 ต่อ 1 ก็ได้ นำมาผสมให้เข้ากัน จากนั้นทำการแช่เมล็ดทานตะวันในน้ำอุ่นทิ้งไว้ 1 คืน หรืออย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วนำวัสดุปลูกใส่ภาชนะ เช่น ตะกร้าขนมจีน หรือตะกร้าที่มีตาถี่ หากไม่มีก็สามารถใช้ภาชนะปลูกอะไรก็ได้ แต่ขอให้มีรูระบายน้ำ
           โดยแนะนำให้ใส่วัสดุเพาะประมาณส่วนของภาชนะ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม เสร็จแล้วทำการโรยเมล็ดทานตะวันที่แช่น้ำแล้ว เกลี่ยให้ทั่วแล้วโรยขุยมะพร้าวที่เหลือกลบด้านหน้าเล็กน้อย รดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง แล้วนำไปวางไว้ในที่ร่ม รดน้ำเช้า-เย็น อดใจรอประมาณ 5-7 วัน ก็สามารถตัดมากินได้ เวลาตัดรากก็ใช้กรรไกรตัด รวบมาเป็นกำๆ แล้วก็ตัดล้างให้สะอาด
ผักสวนครัววิถีคนเมือง ปลูกง่าย อุดมด้วยวิตามิน thaihealthผึ่งให้แห้งสะเด็ดน้ำ โดยเมล็ดทานตะวันจะงอกได้เพียงครั้งเดียว หากต้องการรับประทานอีกครั้งก็ต้องเพาะใหม่
         ประโยชน์ทางโภชนาการของต้นอ่อนทานตะวันคือ คุณค่าทางอาหารสูง มีโปรตีน (มีมากกว่าผักกาดเขียวถึง 2 เท่า) มีวิตามินหลายชนิด ทั้งวิตามินเอ บี 1 บี 6 วิตามินซี และวิตามินอี โอเมกา 3 6 9 ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดี ช่วยบำรุงเซลล์สมอง ป้องกันโรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) กระดูก ผิวพรรณ เส้นผม ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย ป้องกันโรคมะเร็งและโรคหัวใจ ส่วนไขมันที่อยู่ในเมล็ดทานตะวันจะเป็นไขมันที่ไม่อิ่มตัว
          ต้นอ่อนเมล็ดงอกเหล่านี้จะมีกลิ่นหอม กรอบ และมีรสชาติหวาน สามารถกินได้ทั้งแบบสด หรือจะนำไปปรุงอาหารเป็นเมนูอร่อยๆ ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ใส่ในสลัดหรือยำแซบๆ จะนำไปผัดเป็นเมนูทานตะวันงอกผัดน้ำมันหอย ทำอาหารประเภทต้มและแกง จับใส่ลงในแกงจืด แกงส้ม แกงเลียง หรือใส่ในก๋วยเตี๋ยวแทนถั่วงอกก็อร่อย หรือจะนำไปทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพก็ได้ขึ้นอยู่กับความชอบ
          ติดตามกิจกรรมดีๆ ของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.ได้ที่ www.thaihealthcenter.org และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 081-1731-8270.
          ปลูกผักกินเอง ง่ายและถูก
          พี่อ้อ-อร่ามศรี คุปตวินธุ อายุ 48 ปี แม่บ้าน บอกว่า ทราบข่าวว่าทาง สสส.จะมีการจัดกิจกรรมปลูกผักเลยสนใจ เพราะตัวเองเป็นคนชอบทำอาหาร เลยอยากทดลองปลูกผักกินเอง เพราะปลอดภัยจากสารเคมีต่างๆ เนื่องจากผักผลไม้ในปัจจุบันมีสารพิษมาก ถือว่ากิจกรรมครั้งนี้มีประโยชน์มากๆ ค่ะ แล้วจะนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติต่อที่บ้านค่ะ
          พี่ยุ-ยุวดี แซ่ด่าน อายุ 50 ปี ข้าราชการ บอกว่า จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้เราทราบตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดินเพื่อที่จะปลูกผัก ว่าควรเตรียมอย่างไร ใช้พื้นที่เท่าไหร่ และหากจะปลูกผักอะไรก็ควรจะต้องศึกษาลักษณะของผักที่จะปลูกด้วย เป็นกิจกรรมมีประโยชน์และนำไปใช้ได้ค่ะ
         พี่แสตมป์-ชญาดา ขันติสิทธิ์ อายุ 45 ปี ข้าราชการ บอกว่า ได้รับประโยชน์มากจากกิจกรรมครั้งนี้ เพราะเราก็อยากลองปลูกผักกินเอง โดยวิทยากรก็แนะนำเกี่ยวกับการเตรียมดิน เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกพืชผัก ซึ่งวิธีการไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ ปลูกง่ายๆ ปลอดภัย ประหยัดมากค่ะ.

         
          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Comments

Popular posts from this blog